เกษตรอินทรีย์ คือ ระบบการเกษตรที่ผลิตอาหารและเส้นใย ด้วยความยั่งยืนทั้งทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเน้นหลักที่การปรับปรุงบำรุงดิน การเคารพต่อศักยภาพทางธรรมชาติของพืช สัตว์ และนิเวศการเกษตร เกษตรอินทรีย์ลดการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์ เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และ เวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ แต่ในขณะเดียวกัน เกษตรอินทรีย์พยายามประยุกต์กลไกและวัฐจักรธรรมชาติในการเพิ่มผลผลิต และพัฒนาความต้านทานต่อโรคของพืชและสัตว์เลี้ยง หลักการเกษตรอินทรีย์นี้เป็นหลักการสากล ที่สอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ-สังคม ภูมิอากาศ และวัฒนธรรมของท้องถิ่นด้วย
แนวคิดพื้นฐานของเกษตรอินทรีย์ คือ การบริหารจัดการการผลิตทางการเกษตรแบบองค์รวม ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนจากการเกษตรแผนใหม่ที่มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตชนิดใดชนิดหนึ่งสูงสุด โดยการพัฒนาเทคนิคต่างๆ เกี่ยวกับการให้ธาตุอาหารพืชและป้องกันกำจัดสิ่งมีชีวิตอื่นที่อาจมีผลในการทำให้พืชที่ปลูกมีผลผลิตลดลง แนวคิดเช่นนี้เป็นแนวคิดแบบแยกส่วน เพราะแนวคิดนี้ตั้งอยู่บนฐานการมองว่า การเพาะปลูกไม่ได้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ดังนั้นการเลือกชนิดและวิธีการใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆ มุ่งเฉพาะแต่การประเมินประสิทธิผลต่อพืชหลักที่ปลูก โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรการเกษตรหรือนิเวศการเกษตร สำหรับเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นการเกษตรแบบองค์รวมจะให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน, การรักษาแหล่งน้ำให้สะอาด และการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของฟาร์ม ทั้งนี้เพราะแนวทางเกษตรอินทรีย์อาศัยกลไกและกระบวนการของระบบนิเวศในการทำการผลิต ดังนั้นเกษตรอินทรีย์จะประสบความสำเร็จได้ เกษตรกรจำเป็นต้องเรียนรู้กลไกและกระบวนการของระบบนิเวศ
หลักการสำคัญ 4 ข้อของเกษตรอินทรีย์ คือ สุขภาพ, นิเวศวิทยา, ความเป็นธรรม, และการดูแลเอาใจใส่ (health, ecology, fairness and care)
(1) มิติด้านสุขภาพ เกษตรอินทรีย์ควรจะต้องส่งเสริมและสร้างความยั่งยืนให้กับสุขภาพอย่างเป็นองค์รวมของดิน พืช สัตว์ มนุษย์ และโลก
(2) มิติด้านนิเวศวิทยา เกษตรอินทรีย์ควรจะต้องตั้งอยู่บนรากฐานของระบบนิเวศวิทยาและวัฐจักรแห่งธรรมชาติ การผลิตการเกษตรจะต้องสอดคล้องกับวิถีแห่งธรรมชาติ และช่วยทำให้ระบบและวัฐจักรธรรมชาติเพิ่มพูนและยั่งยืนมากขึ้น
(3) มิติด้านความเป็นธรรม เกษตรอินทรีย์ควรจะตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ที่มีความเป็นธรรมระหว่างสิ่งแวดล้อมโดยรวมและสิ่งมีชีวิต
(4) มิติด้านการดูแลเอาใจใส่ การบริหารจัดการเกษตรอินทรีย์ควรจะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังและรับผิดชอบ เพื่อปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คนทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งพิทักษ์ปกป้องสภาพแวดล้อมโดยรวมด้วย
หลักการเกษตรอินทรีย์สากล
หลักการเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกมีหลักการเดียวกัน แต่มีวิธีปฏิบัติที่หลากหลายขึ้นกับสภาพแวดล้อมท้องถิ่นที่ต่างกัน โดยยึดตามหลักสากลของ IFOAM 4 ประการ คือ
· หลักของสุขภาพ (Health) เกษตรอินทรีย์จะทำให้ดินมีความอุดมสมบรูณ์ พืชมีสุขภาพดี งอกงาม สัตว์กินพืชที่ปราศจากสารพิษทำให้สมบรูณ์ มีผลให้คนบริโภคมีสุขภาพที่ดีด้วย คนจะไม่สามารถแยกออกจากระบบนิเวศที่อาศัยอยู่ได้ ดังนั้นระบบนิเวศที่สมบรูณ์ มนุษย์ที่อาศัยจึงอยู่อย่างสุขสบายทิวทัศน์งดงามต่อจิตใจ สังคมอยู่อย่างสงบสุข
· หลักของระบบนิเวศน์ (Ecology) การทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์จะต้องจัดการในฟาร์มให้ผสมกลมกลืนและเกื้อกูลกันของ ดิน พืช สัตว์ โดยการวางแผนการจัดการหมุนเวียนใช้ประโยชน์ของอินทรีย์สารในฟาร์มมากที่สุด การนำกลับมาใช้ใหม่หลายรอบ เช่น วางแผนปลูกพืชอาหารสัตว์ สัตว์กินพืช ถ่ายมูลเป็นปุ๋ยให้กับพืช น้ำเสียจากการเลี้ยงสัตว์นำกลับมาใช้กับพืช เป็นต้น นอกจากนี้ผู้เกี่ยวข้องการผลิต การแปรรูป การตลาดและการบริโภคจะต้องปกป้องสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ความหลากหลายทางชีวภาพ บรรยากาศ ภูมิทัศน์ที่อยู่อาศัย น้ำ และดิน เพื่อให้ทุกชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย
· หลักของความเป็นธรรม (Fairness) การทำเกษตรอินทรีย์ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ของเกษตรกรผลิต ผู้ประกอบการแปรรูป การจัดจำหน่าย และผู้บริโภค เช่นการเข้าถึงอย่างเสมอภาค การค้าที่เป็นธรรม การเคารพสิทธิของสรรพสิ่งในโลก เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกชีวิต ดังนั้นปศุสัตว์อินทรีย์จึงคำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์เป็นสำคัญ การเลี้ยงสัตว์ที่ปล่อยให้สัตว์อยู่อย่างอิสระตามสรีระ และพฤติกรรมของสัตว์ทำให้สัตว์ไม่เครียด
· หลักของการมีสำนึกที่ดี (Care) ผู้เกี่ยวข้องจะต้องมีสำนึกที่ดีในการผลิตที่ไม่เสี่ยงต่อการทำลายสุขภาพของระบบนิเวศ และคุณภาพชีวิตของทุกสิ่ง เข้าใจในระบบนิเวศน์เกษตร ธรรมชาติของสรรพสิ่งที่เกี่ยวพันกันเป็นห่วงโซ่อาหาร เกษตรอินทรีย์จึงไม่ยอมรับให้มีการใช้สารเคมีใดๆและสิ่งมีชีวิตตัดต่อพันธุกรรม
หลักการเกษตรอินทรีย์
- การอนุรักษ์นิเวศน์การเกษตร และสิ่งแวดล้อม ปฏิเสธการใช้สารเคมีทุกชนิด
- ฟื้นฟูนิเวศการเกษตร เน้นการปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ
- พึ่งพากลไกธรรมชาติในการทำเกษตร เรียนรู้ สังเกตธรรมชาติ พร้อมทั้งปรับระบบการเกษตรให้เข้ากับวิถีแห่งธรรมชาติ
- ควบคุมและป้องกันมลพิษจากภายนอกมิให้ปนเปื้อนผลผลิตได้
- พึ่งพาตนเองด้านปัจจัยการผลิตเน้นการผลิตต่างๆ ด้วยตนเองในแปลงให้ได้มากที่สุด มีความมั่นคงทางด้านอาหาร หากจำเป็นต้องซื้อควรเป็นปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นของตน
เป้าหมายเกษตรอินทรีย์
- พัฒนาระบบการผลิตไปสู่แนวทางเกษตรผสมผสานที่มีความหลากหลายทั้งพืชและสัตว์
- ฟื้นฟูและรักษาความสมบูรณ์ของดินด้วยอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด อย่างต่อเนื่อง และผสมผสาน
- รักษาความสมดุลของระบบนิเวศในแปลงและความยั่งยืนของระบบโดยรวม
- สนับสนุนระบบการผลิตและกระบวนการทุกขั้นตอน ที่คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม
- ยึดหลักการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปที่เป็นวิถีธรรมชาติ ประหยัดพลังงาน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
- สร้างกระบวนการเรียนรู้ในกลุ่ม ผู้ผลิต ผู้บริโภค เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
ปัญหาและอุปสรรคในการทำเกษตรอินทรีย์ (โดยธรรมชาติ) ได้แก่
- ฝนแล้ง ควรมีบ่อน้ำสำรองเก็บน้ำช่วงฝนตก
- น้ำท่วม ถ้ามีที่ระบายน้ำควรระบายออก ถ้าไม่มีที่ระบายน้ำ สามารถแจ้งไปทางองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นให้ช่วยอย่างเร่งด่วน
- โรคของพืช ถ้ามีโรคเกิดขึ้นก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และควรดูแลเรื่องน้ำให้ส่ำเสมอ
ประโยชน์ของการทำเกษตรอินทรีย์
ไม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมี ทำให้รายจ่ายลดลง ผลผลิตเพิ่ม ทำให้รายได้เพิ่มขึ้น และยังปลอดภัยจากสารเคมี เท่านี้ชีวิตครอบครัวก็มีความสุข และชุมชนได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย
ไถกลบตอซัง , เพิ่มพลังด้วยพืชตระกูลถั่ว,หว่านให้ทั่วด้วยปุ๋ยอินทรีย์, เพิ่มผลผลิตดี…ชีวีปลอดภัย